ไม่พบไข้นกแก้ว กรรมการโรคติดต่อห่วงไข้เลือดออกพุ่ง
ไข้นกแก้วระบาด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีพบการระบาดของโรคไข้นกแก้ว ในหลายประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ว่า โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ไม่แพร่กระจายโดยการกินสัตว์ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากนกที่ติดเชื้อ ผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ขับออกมาจากปัสสาวะ อุจจาระ หรือสิ่งคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนของนกที่ติดเชื้อเข้าไป มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ทำให้ปอดอักเสบรุนแรงได้ บางรายอาจมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ในระบบเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค แต่ สธ.ได้ประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ เพื่อร่วมมือกันเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน
วันเดียวกัน นพ.ชลน่านเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 17,783 คน มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 2.1 เท่า มีผู้เสียชีวิต 25 คนจาก 16 จังหวัด จึงได้กำชับให้ทุกจังหวัดทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย, โรคหัดพบเด็กป่วยเพิ่มหลายจังหวัด,โรคพิษสุนัขบ้า ปี 2567 ไม่พบผู้เสียชีวิตแต่ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และโรคลีเจียนแนร์พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น ปีนี้พบแล้ว 14 คน ได้ขอให้ที่พัก โรงแรมทำตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวของไทย